ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)

ก๊าซเรือนกระจก เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟาเรดได้ดี ช่วยในการรักษาอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกให้คงที่ ไม่ร้อนจัดในเวลากลางวันและหนาวจัดในเวลากลางคืน เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีในเวลากลางวันแล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ แต่ถ้าหากในชั้นบรรยากาศโลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงมากเกินไป รังสีความร้อนส่วนที่ควรจะสะท้อนออกไปนอกโลกกลับถูกดูดซับไว้ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งพลังงานความร้อนที่ถูกสะสมไว้มากเกินไปก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

  1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide – CO2) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า
  2. ก๊าซมีเทน (Methane – CH4) ก๊าซมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำนาข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ หลุมฝังกลบขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และโรงงานอุตสาหกรรม
  3. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide – N2O) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้ปุ๋ยที่มีองค์ประกอบของไนโตรเจน และอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนผลิต
  4. ก๊าซฟลูออริเนต (Fluorinated Gases) คือกลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons – HFCs) และก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbons: PFCs) เป็นก๊าชสังเคราะห์ที่เกิดจาก กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท โดยกลุ่มก๊าซฟลูออริเนตสามารถนำมาใช้แทนก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon: CFCs) ซึ่งเป็นสารที่ใช้อยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง
  5. ก๊าซซัลเฟอร์เอกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride – SF6) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพ ในการทำให้เกิดโลกร้อนมากที่สุดจากการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และมีอายุในบรรยากาศ 3,200 ปี ก๊าซนี้ถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆ ได้แก่ ในรองเท้าไนกี้แอร์ (Nike Air) ยางรถยนต์ ฉนวนไฟฟ้า การผลิตสารกึ่งตัวน้าไฟฟ้า (เซมิคอนดักเตอร์) และในอุตสาหกรรมแมกนีเซียม
  6. ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen Trifluoride – NF3) ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ หรือวงจรรวมขนาดเล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ และใช้ในการทำความสะอาดห้อง (Chamber) โดยการให้ไอสารเคมีเกาะติดบนแก้วหรือซิลิคอนเวฟเฟอร์

 

ที่มา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี