Carbon Footprint for Organization

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้น ที่นับวันปัญหายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซมีเทน ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การพัฒนาทางภาคอุตสาหกรรม การใช้พลังงานไฟฟ้า การเกษตรกรรม การขนส่ง เป็นต้น รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน จากผลกระทบของ ภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ

Carbon Footprint for Organization (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร) คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่ถูกปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่างๆ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และเป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้

SCOPE I: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น

SCOPE II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น

SCOPE III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่นๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

ประโยชน์ของคาร์บอนฟุตพริ้นขององค์กร หรือ CFO

  • สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร
  • สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการบ่งชี้จุดปรับปรุงเพื่อหามาตรการลดปริมาณการปล่อย ตลอดจน ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปี
  • ส่งเสริมให้เกิดความถูกต้องของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในสภาวะแวดล้อม
  • ส่งเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือ ความสม่ำเสมอ และความโปร่งใส ในการบริหารจัดการความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เตรียมพร้อมมาตรการภาษีคาร์บอนตลอดจนเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
การท่าเรือแห่งประเทศไทย
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ