การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์โลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากสู่ชึ้นบรรยากาศ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกและรวมถึงประเทศไทยเองต่างให้ความสำคัญและร่วมมือกันตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อที่จะชะลอหรือหยุดปรากฏการณ์โลกร้อน
และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2023 ได้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 28 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสและให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “carbon neutrality” ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “net zero emissions” ภายในปี 2065
Carbon neutrality กับ Net zero emissions คืออะไร?
Carbon neutrality และ Net zero emissions มีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับได้เท่ากับศูนย์ แต่มีกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน
Carbon neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การบรรลุความสมดุลระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศกับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านการปลูกป่าหรือวิธีการอื่น เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การซื้อคาร์บอนเครดิต
Net zero emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ
แม้ว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาสมดุลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยเฉพาะ แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) จะครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น (สามตัวหลัก ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O)
ความสำคัญของ Carbon neutrality กับ Net zero emissions
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ว่าจะเป็น Start-up หรือขนาดใหญ่รวมทั้งองค์กรระดับโลกต่างให้ความสนใจเทรนด์ Carbon neutral กับ Net zero กันมากขึ้น เพราะนอกจากมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าทางองค์กรมีความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน